This post is also available in: English (อังกฤษ) 简体中文 (จีนประยุกต์) 한국어 (เกาหลี)
หนองในเทียมเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STI) ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันผ่านทางช่องคลอด ทวารหนักหรือทางปาก เชื้อสามารถแพร่กระจายไปยังท่อปัสสาวะ ปากมดลูก ทวารหนัก คอและตาได้ หนองในเทียมถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จากเชื้อแบคทีเรียที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศออสเตรเลีย คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อหนองในเทียมจะไม่แสดงอาการและไม่ทราบว่าตนเป็นจนกว่าจะได้รับการตรวจ หนองในเทียมสามารถรักษาให้หายได้ง่ายโดยใช้ยาปฏิชีวนะ หากไม่ได้รับการรักษา หนองในเทียมอาจจะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ภาวะมีบุตรยากและอาการเจ็บปวดเรื้อรัง
ลักษณะผิดสังเกตและอาการ
หนองในเทียมมักไม่มีอาการ แต่หากมีอาการเกิดขึ้น โดยปกติจะเกิดขึ้นภายใน 1-3 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ หนองในเทียมที่ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (PID) ทำให้มีอาการปวดเรื้อรังและภาวะมีบุตรยาก หนองในเทียมที่ไม่ได้รับการรักษายังอาจทำให้เกิดอาการบวมเจ็บบริเวณอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง เป็นที่ทราบกันว่าหนองในเทียมคือสาเหตุทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น ข้ออักเสบ
คำเตือนเกี่ยวกับเนื้อหา: คลิกเพื่อแสดงภาพอาการของโรค
ช่องคลอด/ปากช่องคลอด
หนองในเทียมมักจะไม่แสดงอาการ หากมีลักษณะผิดสังเกตหรืออาการ อาการเหล่านี้อาจได้แก่:
- มีตกขาวสีเหลือง-ขาวออกมาจากช่องคลอด
- มีตกขาวมากขึ้น
- รู้สึกปวดหรือแสบขณะปัสสาวะ
- ปวดอุ้งเชิงกราน โดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์
- เลือดออกผิดปกติ โดยเฉพาะช่วงที่ไม่มีประจำเดือนหรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์
องคชาต
หนองในเทียมมักจะไม่แสดงอาการใด ๆ หากมีลักษณะผิดสังเกตหรืออาการ อาการเหล่านี้อาจได้แก่:
- มีเมือกเหลวเป็นน้ำ เหนียวหรือเป็นสีคล้ายนม
- ปลายท่อปัสสาวะมีสีแดง
- รู้สึกแสบหรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ
- ปวดและบวมที่อัณฑะข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
ทวารหนัก/ลำไส้ตรง
คุณอาจจะเป็นหนองในเทียมโดยไม่แสดงอาการใด ๆ หากมีลักษณะผิดสังเกตหรืออาการ อาการเหล่านี้อาจได้แก่:
- คันทวารหนัก
- รู้สึกปวดถ่ายถึงแม้ว่าจะไม่มีอุจจาระ
- เมือกที่ทวารหนัก
- มีเลือดออกที่ทวารหนัก
- ปวดขณะเบ่งถ่ายหนัก
คอ
คุณอาจจะไม่มีอาการของหนองในเทียมที่ลำคอ หากมีลักษณะผิดสังเกตหรืออาการ อาการเหล่านี้อาจได้แก่:
- เจ็บคอไม่หาย
- มีไข้
- ต่อมน้ำเหลืองบวม
- แผลในลำคอ
- ผนังลำคอมีจุดสีขาวกระจาย
ตา
หนองในเทียมอาจจะไม่แสดงอาการใด ๆ หากมีลักษณะผิดสังเกตหรืออาการ อาการเหล่านี้อาจได้แก่:
- ตาแดง
- ระคายเคืองตา
- เปลือกตาบวม
- มีเมือกที่ตา
- ตาแฉะ
- ตาแพ้แสง
- ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรอบดวงตาบวม
การแพร่เชื้อ
หนองในเทียมส่วนใหญ่ติดต่อกันจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันผ่านทางช่องคลอด ทวารหนักหรือทางปาก หรือสารคัดหลั่งจากร่างกายของผู้ติดเชื้อผ่านเข้าสู่ตา เนื่องจากหนองในเทียมมักจะไม่แสดงอาการ หลาย ๆ คนจึงไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ
หนองในเทียมสามารถติดต่อได้จาก:
- การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก ทวารหนักหรือช่องคลอดโดยไม่ป้องกัน
- การสำเร็จความใคร่ให้กัน การใช้นิ้วหรือกำปั้นสอดใส่โดยไม่สวมถุงมือหรือใช้อุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ
- การใช้เซ็กส์ทอยร่วมกับผู้อื่นโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย
- น้ำอสุจิหรือสารคัดหลั่งจากช่องคลอดผ่านเข้าสู่ตา
- การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายโดยดึงหนังหุ้มปลายสวมเข้ากับอีกฝ่ายที่ดึงหนังหุ้มปลายลงและถูไถกันโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย
- จากมารดาสู่ทารกขณะคลอด
หนองในเทียมสามารถแพร่สู่กันได้แม้ว่าผู้ติดเชื้อหนองในเทียมจะไม่มีอาการ
การป้องกัน
เนื่องจากหนองในเทียมมักจะไม่มีอาการ จึงขอแนะนำเป็นอย่างยิ่งให้เข้ารับการตรวจสุขภาพทางเพศเป็นประจำ คุณสามารถดูรายชื่อคลินิกสุขภาพทางเพศที่ยินดีให้คำปรึกษากับคนทำงานบริการได้ที่สถานที่ตรวจของเรา
วิธีเพิ่มเติมที่ใช้ป้องกันการแพร่เชื้อหนองในเทียม ได้แก่:
- การใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางช่องคลอดและทวารหนัก
- การใช้ถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์ทางปาก
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสอวัยวะเพศหรือดวงตา หากมือของคุณสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากร่างกาย
- เปลี่ยนถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทางปากกับช่องคลอดหรือกับทวารหนัก เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสติดเชื้อที่ลำคอ
- ใช้ถุงยางอนามัยกับของเล่นที่คุณใช้ร่วมกับผู้อื่น เปลี่ยนถุงยางอนามัยเมื่อมีการสลับคู่ หรือเมื่อเปลี่ยนจากอวัยวะหนึ่งไปอีกอวัยวะหนึ่ง (เช่น จากช่องคลอดเป็นปาก) แนะนำให้คุณเปลี่ยนถุงยางอนามัยทุกครั้งที่เปลี่ยนจากการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักเป็นช่องคลอดหรือทางปาก
- หันองคชาตออกจากใบหน้าระหว่างใช้องคชาตถูร่องอก หรือระหว่างใช้มือชักองคชาตเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำอสุจิกระเด็นเข้าตา
- วิธีหนึ่งที่ใช้ตรวจดูว่าลูกค้าเป็นหนองในเทียมหรือไม่คือการ ‘รีด’ องคชาตดู (ต้องทำก่อนลูกค้าอาบน้ำหรือเข้าห้องน้ำ) ค่อย ๆ บีบลำองคชาตและหากมีเมือกข้น ๆ ไหลออกมานั่นอาจคือหนองในเทียม จำไว้ว่าไม่ใช่การติดเชื้อทั้งหมดจะแสดงอาการออกมา และหากมีอาการ อาการก็ไม่เหมือนกันทั้งหมด น้ำเมือกที่ติดเชื้ออาจจะดูคล้ายกับน้ำหล่อลื่น อ่านวิธี ตรวจสุขภาพทางเพศของลูกค้าได้ที่นี่
- จับที่ขอบถุงยางอนามัยในขณะที่ดึงองคชาตออกเพื่อที่น้ำอสุจิจะได้ไม่เล็ดลอดออกมา
การตรวจ
ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจโรคหนองในเทียมมีดังนี้ คุณสามารถดูรายชื่อคลินิกสุขภาพทางเพศที่ยินดีให้คำปรึกษากับคนทำงานบริการได้ที่สถานที่ตรวจของเรา
วิธีตรวจ
- ตรวจปัสสาวะ
- ใช้ไม้สวอบป้ายเก็บตัวอย่างเซลล์จากบริเวณปากมดลูก ท่อปัสสาวะ ทวารหนัก หรือคอ
- ผู้ที่มีช่องคลอดและไม่แสดงอาการสามารถขอรับการตรวจ โดยการใช้ไม้สวอบเก็บตัวอย่างบริเวณช่องคลอดด้วยตนเองได้
- ผู้ที่มีช่องคลอดสามารถขอให้ใช้ไม้สวอบเก็บตัวอย่างระหว่างที่แพทย์หรือพยาบาลตรวจสุขภาพให้ได้:
- หากมีอาการต่าง ๆ เช่น รู้สึกปวด มีตกขาวหรือเลือดไหลผิดปกติ
- พร้อมกันกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (CST)
ควรตรวจเมื่อใด
- การตรวจสามารถตรวจพบเชื้อหนองในเทียมได้หลังจากรับเชื้อมาแล้ว 1-2 สัปดาห์
- การตรวจหาเชื้อหนองในเทียมมีรวมอยู่ในการตรวจสุขภาพทางเพศตามปกติ – โปรดดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในข้อมูลเกี่ยวกับช่วงเวลาในการตรวจ
- เข้ารับการตรวจโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้หากคุณมีอาการ
- เข้ารับการตรวจหากคู่นอนของคุณมีผลตรวจหนองในเทียมเป็นบวก
ข้อมูลอื่นๆ
- หนองในเทียมมักจะไม่หายไปเอง และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง หากไม่ได้รับการรักษา
- คลินิกสุขภาพทางเพศมักจะไม่เรียกเก็บค่าตรวจโดยเรียกเก็บจากรัฐบาลแทน แม้คุณจะไม่มีสวัสดิการ Medicare การตรวจก็อาจจะฟรี
- หากคุณพบแพทย์ GP คุณอาจจะเสียค่าธรรมเนียมหรือฟรีโดยแพทย์เรียกเก็บเงินจากรัฐบาลแทน
การรักษา
หนองในเทียมสามารถรักษาให้หายได้ง่าย ข้อมูลที่คุณต้องทราบเกี่ยวกับการรักษาโรคนี้มีดังนี้
วิธีรักษา
- หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ หนองในเทียมสามารถรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะเพียงครั้งเดียวหรือระยะนึง (ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับยาที่แพทย์สั่งจ่ายให้คุณ) ระยะเวลาอาจจะแตกต่างกันไป และควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
- หากเกิดภาวะแทรกซ้อนจากหนองในเทียม คุณจะต้องรับประทานยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลานานขึ้น
ค่าใช้จ่ายและข้อมูลอื่นๆ
- ขอแนะนำให้คุณงดการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 7 วันหลังเข้ารับการรักษา
- ค่าใช้จ่ายในการรักษาขึ้นอยู่กับยาปฏิชีวนะที่แพทย์สั่งจ่ายให้คุณ
- คลินิกสุขภาพทางเพศมักจะไม่เรียกเก็บค่ารักษาโดยเรียกเก็บจากรัฐบาลแทน แม้คุณจะไม่มีสวัสดิการ Medicare การรักษาก็อาจจะฟรี
- หากคุณพบแพทย์ GP คุณก็อาจจะเสียค่าธรรมเนียมหรือฟรีโดยแพทย์เรียกเก็บเงินจากรัฐบาล
- หนองในเทียมสามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพ แต่ร่างกายคุณไม่มีการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น คุณจึงอาจติดหนองในเทียมได้อีก
หนองในเทียมอาจจะกระทบต่องานของฉันได้อย่างไร
ข้อควรพิจารณาในทางปฏิบัติ
- หนองในเทียมเป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มคนทำงานบริการ และเนื่องจากมักจะไม่มีอาการ จึงสามารถแพร่เชื้อหรือติดจากผู้อื่นได้ง่ายโดยไม่รู้ตัว
- ขอแนะนำให้คุณงดการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 7 วันหลังเข้ารับการรักษา
- หากคุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หรือหยุดงานได้ การใช้ถุงยางอนามัยจะช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อหนองในเทียม แต่ไม่สามารถรับประกันได้
- คุณอาจยังสามารถเลือกที่จะเสนอบริการแบบอื่นแทนและใช้ถุงยางอนามัยและ/หรืออุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ เพื่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย (ถุงมือ แผ่นยางอนามัย ฯลฯ) หรือให้บริการออนไลน์หรือทางโทรศัพท์ ระหว่างที่เลี่ยงการให้บริการแบบเจอตัว
- ยาปฏิชีวนะบางประเภทสามารถลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (‘ยาคุม’) ได้
- หากคุณมักเป็นเชื้อราเมื่อทานยาปฏิชีวนะ คุณควรทานพวกโพรไบโอติกส์ระหว่างและหลังการรับประทานยารักษาเพื่อป้องกันภาวะเชื้อราในช่องคลอด
- คุณควรแจ้งบุคคลที่ทำงานขึ้นคู่กับคุณด้วย หากคุณมีผลตรวจหนองในเทียมเป็นบวก
ข้อควรพิจารณาด้านกฎหมายและการแจ้งผลตรวจ
- บางรัฐและดินแดนอาจมีกฎหมายที่ถือว่าการทำงานบริการหรือการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างที่คุณป่วยเป็นโรค BBV หรือ STI มีความผิด ตรวจดูข้อมูลทางกฎหมายและ BBV STI หรือติดต่อองค์กรเพื่อคนทำงานบริการในพื้นที่ เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม
- การติดตามผู้สัมผัสโรคในผู้ที่เป็นอดีตคู่นอน (หรือที่เรียกว่า ‘การแจ้งผลแก่ผู้สัมผัสโรค’) เป็นการแจ้งผลแก่ผู้สัมผัสโรค BBV และ STI บางชนิด ซึ่งการแจ้งผลแก่ผู้สัมผัสโรคนี้ควรดำเนินการโดยคำนึงถึงความเสี่ยงในการแพร่เชื้อและเคารพต่อสิทธิส่วนบุคคลของคนทำงานบริการ องค์กรเพื่อคนทำงานบริการในพื้นที่ของคุณสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับช่องทางการแจ้งผลแก่ผู้สัมผัสโรคเพื่อรับรองว่ามีความเหมาะสมตามสถานการณ์ของคุณ
- หนองในเทียมเป็นโรคที่จำเป็นต้องแจ้งผลโดยทั่วไปในบางเขต ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วยหนองในเทียมจะได้รับการรายงานผลไปยังหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐหรือดินแดนนั้น ๆ โดยไม่มีระบุชื่อผู้ป่วยข้อมูล คุณสามารถหาอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อกำหนดในเขตที่อยู่ของคุณได้ใน กฎหมายและ BBV STI