This post is also available in: English (อังกฤษ) 简体中文 (จีนประยุกต์) 한국어 (เกาหลี)
ชิเกลลาเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในลำไส้ ซึ่งจะมีการแพร่เชื้อเมื่ออุจจาระ (อึ) ที่ติดเชื้อเข้าสู่ปาก โรคบิดชิเกลลาติดต่อกันได้ง่ายมากและก่อให้เกิดอาการท้องร่วง แม้ว่าโรคบิดชิเกลลาไม่ได้ติดต่อกันผ่านทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะ แต่การมีเพศสัมพันธ์ก็เป็นช่องทางการติดต่อที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระหว่างให้บริการเล่นกับก้น ตามปกติแล้ว โรคบิดชิเกลลาจะหายได้เอง แต่การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะสามารถลดระยะเวลาและความรุนแรงของอาการได้
ลักษณะผิดสังเกตและอาการ
หากคุณมีอาการ อาการมักจะเกิดขึ้นภายใน 12 ชั่วโมง – 4 วัน หลังจากได้รับเชื้อ โรคบิดชิเกลลามักจะไม่แสดงอาการใด ๆ แต่ก็แพร่เชื้อได้ถึงแม้ไม่มีอาการปรากฏให้เห็น เมื่อปล่อยโรคบิดชิเกลลาไว้โดยไม่รักษา อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ เช่น ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง การติดเชื้อในกระแสเลือด และภาวะแทรกซ้อนในลำไส้
อาการและผลกระทบของโรคบิดชิเกลลาอาจประกอบไปด้วย:
- ท้องเสีย (ถ่ายเป็นน้ำ บางครั้งมีเลือดและ/หรือมูก)
- อาเจียน
- คลื่นไส้
- ปวดท้องและเป็นตะคริว
- มีไข้
สำหรับผู้ที่ติดเชื้อ HIV อาการของโรคบิดชิเกลลาอาจจะรุนแรงมากกว่าและจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
การแพร่เชื้อ
โรคบิดชิเกลลาเป็นโรคที่ติดต่อและแพร่เชื้อให้กันได้ง่ายมาก เชื้อจะอยู่ในอุจจาระของผู้ที่มีเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวในร่างกาย โรคนี้จะติดต่อจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งผ่านทางอุจจาระเข้าสู่ปาก คุณยังสามารถแพร่เชื้อหรือติดเชิ้อโรคบิดชิเกลลาได้แม้ไม่มีอาการใด ๆ
โรคบิดชิเกลลาที่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์สามารถเกิดขึ้นได้จาก:
- ติดโดยตรงผ่านการใช้ปากกับก้น (การใช้ลิ้นเลียก้น) หรือการให้บริการล้างตู้เย็น
- การใส่นิ้วที่ติดเชื้อเข้าปากหลังจากที่สอดนิ้วหรือกำปั้นเข้าก้น
- การใส่นิ้วที่ติดเชื้อเข้าปากหลังจากที่ไปสัมผัสกับวัตถุสิ่งของที่ติดเชื้อ เช่น ถุงยางอนามัย ถุงมือ และเซ็กส์ทอยที่ใช้แล้ว
- การสัมผัสกันระหว่างปากกับสิ่งของที่ติดเชื้อ เช่น ถุงยางอนามัยและเซ็กส์ทอยที่ใช้แล้ว
โรคบิดชิเกลลายังสามารถเข้าสู่ร่างกายของคุณโดยการสัมผัสระหว่างสิ่งของอื่น ๆ ที่ติดเชื้อกับปากของคุณ เช่น บุหรี่หรือถ้วยน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวติดอยู่
นอกจากนี้ โรคบิดชิเกลลายังสามารถติดต่อได้ทางอ้อมผ่านอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ
การป้องกัน
ในการป้องกันโรคบิดชิเกลลา ให้ตระหนักเสมอว่าอนุภาคอุจจาระ (อึ) ขนาดเล็กสามารถเข้าสู่ปากของคุณได้ง่ายมาก โดยเฉพาะเมื่อคุณกัดเล็บ จุดบุหรี่ เตรียมอาหาร และใช้ข้าวของเครื่องใช้ร่วมกัน เช่น ถ้วย ขวดน้ำ และของใช้ต่าง ๆ ในบ้าน
คุณสามารถช่วยป้องกันการแพร่เชื้อบิดชิเกลลาได้ดังนี้:
- สวมถุงมือหากให้บริการเล่นกับก้น เช่น การสอดนิ้วหรือกำปั้นเข้าก้น
- ใช้แผ่นยางอนามัย พลาสติกแรป หรืออุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ สำหรับงานที่ใช้ปากกับก้น (คุณสามารถตัดถุงยางอนามัยออกและวางแผ่เพื่อการนี้)
- เปลี่ยนถุงยางอนามัยระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ทางปากกับก้นและองคชาต เซ็กส์ทอย หรือวัตถุอื่น ๆ
- ล้างมือหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ทางก้น
- ล้างมือหลังจากที่จับถุงยางอนามัย ถุงมือ หรือเซ็กส์ทอยที่ใช้เล่นกับก้น
- ล้างและ/หรือฆ่าเชื้อเซ็กส์ทอยที่ใช้เล่นกับก้นหลังการใช้งาน
แนะนำให้คุณเปลี่ยนถุงยางอนามัยทุกครั้งที่เปลี่ยนจากการมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางก้นเป็นช่องคลอดหรือทางปาก
การตรวจ
ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจโรคบิดชิเกลลา มีดังนี้ คุณสามารถดูรายชื่อคลินิกสุขภาพทางเพศที่ยินดีให้คำปรึกษากับคนทำงานบริการได้ที่สถานที่ตรวจของเรา
วิธีตรวจ
- ตรวจอุจจาระ (ตัวอย่างอึ)
ควรตรวจเมื่อใด
- หากคุณมีอาการของโรคบิดชิเกลลา
ข้อมูลอื่นๆ
- คลินิกสุขภาพทางเพศมักจะไม่เรียกเก็บค่าตรวจโดยเรียกเก็บจากรัฐบาลแทน แม้คุณจะไม่มีสวัสดิการ Medicare การตรวจก็น่าจะฟรี
- หากคุณพบแพทย์ GP คุณอาจจะเสียค่าธรรมเนียมหรือฟรีโดยแพทย์เรียกเก็บเงินจากรัฐบาลแทน
การรักษา
โรคบิดชิเกลลาสามารถรักษาให้หายได้ ข้อมูลที่คุณต้องทราบเกี่ยวกับการรักษามีดังนี้
วิธีรักษา
- โรคบิดชิเกลลามักจะหายได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
- ดื่มน้ำมาก ๆ (ใช้สารละลายเกลือแร่ เช่น Hydralyte หากจำเป็น) และพักผ่อนให้เพียงพอ
- การรับประทานยาปฏิชีวนะจะใช้เพื่อให้อาการทุเลาเร็วขึ้นในกรณีที่มีอาการรุนแรง
ค่าใช้จ่ายและข้อมูลอื่นๆ
- ค่าใช้จ่ายในการรักษาขึ้นอยู่กับยาปฏิชีวนะที่แพทย์สั่งจ่ายให้คุณ
- คลินิกสุขภาพทางเพศมักจะไม่เรียกเก็บค่ารักษาโดยเรียกเก็บจากรัฐบาลแทน ถึงแม้ว่าคุณจะไม่มีสวัสดิการ Medicare การรักษาก็น่าจะฟรี
- หากคุณพบแพทย์ GP คุณก็อาจจะเสียค่าธรรมเนียมหรือฟรีโดยแพทย์เรียกเก็บเงินจากรัฐบาลแทน
- โรคบิดชิเกลลาสามารถรักษาให้หายได้ แต่ร่างกายจะไม่สร้างภูมิคุ้มกันใด ๆ ขึ้นมา คุณอาจติดเชื้อชิเกลลาซ้ำอีกได้
ในประเทศออสเตรเลีย มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเชื้อชิเกลลาที่ดื้อต่อยาหลายขนาน ซึ่งหมายความว่ายาปฏิชีวนะแบบรับประทานที่มีอยู่ไม่สามารถรักษาการติดเชื้อได้ ในกรณีเหล่านี้ ผู้ป่วยต้องได้รับยาปฏิชีวนะโดยการฉีดเข้าเส้นเลือดที่โรงพยาบาล
โรคบิดชิเกลลาอาจจะกระทบต่องานของฉันได้อย่างไร
ข้อควรพิจารณาในทางปฏิบัติ
- คุณอาจรู้สึกยังไม่หายดีพอที่จะไปทำงาน
- อาการท้องเสียอาจทำให้ทำงานลำบาก
- แพทย์แนะนำให้หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าคุณจะไม่มีอาการใด ๆ อีก เนื่องจากโรคบิดชิเกลลาติดต่อกันได้ง่ายมาก
- หากคุณไม่สามารถหยุดงานได้ในช่วงนี้ คุณอาจพิจารณาให้บริการแบบไม่สัมผัสร่างกาย/ออนไลน์หรือทางโทรศัพท์แทน
- ยาปฏิชีวนะบางประเภทสามารถลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (‘ยาคุม’) ได้
- หากคุณมักเป็นเชื้อราเมื่อใช้ยาปฏิชีวนะ คุณควรทานพวกโพรไบโอติกส์ระหว่างและหลังการใช้ยาเพื่อป้องกันภาวะเชื้อราในช่องคลอด
- คุณควรแจ้งบุคคลที่ทำงานขึ้นคู่กับคุณด้วย หากคุณมีผลตรวจเชื้อบิดชิเกลลาเป็นบวก
ข้อควรพิจารณาด้านกฎหมายและการแจ้งผลตรวจ
- โรคบิดชิเกลลาเป็นโรคที่จำเป็นต้องแจ้งผลทั่วประเทศในออสเตรเลีย ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วยจะถูกรายงานผลไปยังหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐหรือดินแดนนั้น ๆ โดยไม่ระบุชื่อผู้ป่วย คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อกำหนดในรัฐและดินแดนที่คุณอาศัยอยู่ได้ที่ข้อมูลกฎหมายและ BBV STI