This post is also available in: English (อังกฤษ) 简体中文 (จีนประยุกต์) 한국어 (เกาหลี)
หูดหงอนไก่มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก แข็ง ที่เกิดจากเชื้อไวรัสฮิวแมนแปปิโลมา (HPV) บางสายพันธุ์ หูดอาจปรากฏรอบ ๆ อวัยวะเพศ ทวารหนัก ด้านในช่องคลอด ลำไส้ตรง และท่อปัสสาวะ HPV ติดต่อกันได้ด้วยการสัมผัสบริเวณอวัยวะเพศของผู้ที่มีเชื้อ HPV แบบเนื้อแนบเนื้อ ผู้ใหญ่กว่า 90% มีไวรัส HPV ที่อวัยวะเพศอย่างน้อยหนึ่งสายพันธุ์ในร่างกาย แต่ไม่ใช่ทุกสายพันธุ์ที่จะมีอาการปรากฏให้เห็น เช่น หูด เชื้อสามารถแพร่ได้แม้กระทั่งตอนที่ยังมองไม่เห็นหูด
เนื่องจาก HPV บริเวณอวัยวะเพศเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทุกคน จึงอาจเป็นเรื่องยากสำหรับคนทำงานบริการที่ให้บริการแบบเนื้อแนบเนื้อที่จะป้องกันการรับเชื้อ HPV จากสถานที่ให้บริการ การเข้ารับการตรวจปากมดลูกตามกำหนดและฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ให้ครบสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นหูดหงอนไก่และ HPV ที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งได้อย่างมาก เช่น โรคมะเร็งปากมดลูก
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ HPV
เชื้อ HPV มีมากกว่า 200 สายพันธุ์และหลายสายพันธุ์ก็ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพเลย HPV บางสายพันธุ์อาจทำให้เกิดหูดหงอนไก่ ส่วนสายพันธุ์อื่น ๆ อาจทำให้เป็นมะเร็งที่ปากมดลูก ช่องคลอด ปากช่องคลอด หรือทวารหนักได้ คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อ HPV ที่บริเวณอวัยวะเพศจะไม่แสดงอาการใด ๆ และร่างกายจะสามารถควบคุมหรือกำจัดไวรัสได้เองตามธรรมชาติ
ไม่มีวิธีรักษาเชื้อ HPV ให้หาย แต่สามารถรักษาปัญหาสุขภาพที่เกิดจากเชื้อ HPV ได้ เช่น หูดหงอนไก่ การเปลี่ยนแปลงของปากมดลูก และมะเร็งปากมดลูก การฉีดวัคซีนสามารถป้องกันคุณจากเชื้อ HPV สายพันธ์ที่ก่อให้เกิดหูดหงอนไก่ รวมถึงมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งชนิดอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับเชื้อ HPV
ลักษณะผิดสังเกตและอาการ
HPV มักจะไม่แสดงอาการ (ไร้อาการ) แต่หูดสามารถขึ้นตรงทวารหนักและอวัยวะเพศได้หลังจากรับเชื้อ 1-20 เดือน อาจใช้เวลาถึง 10 ปีที่เชื้อ HPV สายพันธุ์ชนิดความเสี่ยงสูงจะพัฒนากลายเป็นมะเร็ง
Content warning: click to show images of symptoms
ช่องคลอด/ปากช่องคลอด
ผู้ป่วย HPV อาจจะไม่แสดงอาการใด ๆ เลย หากมีลักษณะผิดสังเกตหรืออาการ อาจได้แก่:
- มีกลุ่มติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ
- ตุ่มที่กระจายไปทั่วและมีสีเข้มกว่าผิวบริเวณที่ไม่ได้ติดเชื้อ
- ก้อนเนื้อที่อาจจะนูนขึ้นมา แบนราบ ผิวเรียบหรือขรุขระ
- เลือดไหลผิดปกติระหว่างมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดหรือระหว่างปัสสาวะหรืออุจจาระ
หูดหงอนไก่มักจะบ่งบอกถึงการติดเชื้อ HPV ชนิดความเสี่ยงต่ำ (ไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง) แต่มะเร็งปากช่องคลอดชนิดใดชนิดหนึ่งอาจปรากฏก้อนลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ ดังนั้น คุณควรปรึกษาแพทย์ หากคุณพบว่ามีก้อนโตขึ้นผิดปกติบริเวณรอบ ๆ ช่องคลอด
องคชาต
ผู้ป่วย HPV อาจจะไม่แสดงอาการใด ๆ เลย หากมีลักษณะผิดสังเกตหรืออาการ อาจได้แก่:
- มีกลุ่มติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ
- ตุ่มที่กระจายไปทั่วและมีสีเข้มกว่าผิวที่ไม่ได้ติดเชื้อ
- ก้อนเนื้อที่อาจจะนูนขึ้นมา แบนราบ ผิวเรียบหรือขรุขระ
- หูดที่ปรากฏบริเวณถุงอัณฑะหรือขนบริเวณอวัยวะเพศ
- เลือดไหลผิดปกติระหว่างปัสสาวะหรืออุจจาระ
ทวารหนัก/ลำไส้ตรง
ผู้ป่วย HPV อาจจะไม่แสดงอาการใด ๆ เลย หากมีลักษณะผิดสังเกตหรืออาการ อาจได้แก่:
- มีกลุ่มติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ
- ตุ่มที่กระจายไปทั่วและมีสีเข้มกว่าผิวที่ไม่ได้ติดเชื้อ
- ก้อนเนื้อที่อาจจะนูนขึ้นมา แบนราบ ผิวเรียบหรือขรุขระ
- เลือดไหลผิดปกติระหว่างมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักหรือระหว่างปัสสาวะหรืออุจจาระ
การแพร่เชื้อ
HPV ส่วนใหญ่จะติดต่อกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และคนส่วนใหญ่ติดเชื้อ HPV ในช่วงเวลาสั้น ๆหลังจากเริ่มมีเพศสัมพันธ์ กว่า 90% ของผู้ติดเชื้อจะหายได้เองตามธรรมชาติ
- การสัมผัสบริเวณอวัยวะเพศของผู้ที่มีเชื้อ HPV แบบเนื้อแนบเนื้อ (เช่น องคชาต/ลูกอัณฑะสัมผัสกับปากช่องคลอด ปากช่องคลอดสัมผัสกับปากช่องคลอด องคชาตสัมผัสกับองคชาต ทวารหนักสัมผัสกับลูกอัณฑะ)
- HPV ติดต่อกันได้ง่ายมาก หากมีหูดปรากฏให้เห็นหรือหากผิวที่หูดแตก
- เชื้อ HPV สามารถแพร่ได้แม้จะไม่มีหูดขึ้น
- การแพร่เชื้อสามารถเกิดขึ้นได้แม้จะมองไม่เห็นหูดก็ตาม
- มีความเป็นไปได้ที่มีการแพร่เชื้อ HPV จากบริเวณอวัยวะเพศไปยังปาก แต่พบได้น้อยมาก มีหลักฐานจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อ HPV ที่ปากและคอจากการมีเพศสัมพันธ์ทางปากเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งลำคอ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อ HPV ที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งได้ที่ www.hpv.org.nz
- บริเวณผิวหนังที่มีถุงยางอนามัย ถุงมือ แผ่นยางอนามัย หรืออุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ คลุมอยู่เท่านั้นที่ได้รับการป้องกันจากไวรัส
- การมีหูดขึ้นไม่ได้หมายความว่าคุณเพิ่งจะได้รับเชื้อ HPV มา คุณอาจรับเชื้อ HPV มานานหลายเดือนหรือหลายปีแล้วก่อนที่จะเห็นหูดขึ้น
การป้องกัน
การฉีดวัคซีน
การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันหูดหงอนไก่และเชื้อ HPV อื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับการเกิดโรค
- มีวัคซีนอยู่สองชนิดในประเทศออสเตรเลีย ทั้งสองชนิดสามารถป้องกัน HPV ทุกสายพันธ์ที่ก่อให้เกิดหูดหงอนไก่ได้ถึง 99% รวมถึงสายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70%
- วัคซีนใช้ป้องกันเชื้อ HPV ได้ในคนทุกเพศ
- วัคซีนไม่สามารถ ‘รักษา’ การติดเชื้อ HPV ที่มีอยู่แล้วได้
- วัคซีนป้องกันเชื้อ HPV จะมีประสิทธิภาพป้องกันได้ดีที่สุด หากฉีดตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์และยังไม่เคยสัมผัสเชื้อ HPV
- การฉีดวัคซีนน่าจะยังป้องกันคุณจากไวรัส HPV สายพันธุ์ที่คุณยังไม่เคยติดนับตั้งแต่ที่คุณเริ่มมีเพศสัมพันธ์
- เริ่มมีบริการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ฟรีในประเทศออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2007 ดังนั้น คุณก็อาจจะได้รับวัคซีนแล้วตามโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแห่งชาติ (National Immunisation) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปีสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนสองเข็มได้ฟรี
- หากคุณไม่มีสิทธิ์ได้รับวัคซีนฟรี คุณอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่าย แพทย์สามารถให้ข้อมูลที่ดีที่สุดแก่คุณ
- คลินิกสุขภาพทางเพศบางแห่งสามารถฉีดวัคซีนให้คุณได้ฟรี คุณสามารถดูรายชื่อคลินิกสุขภาพทางเพศที่ยินดีให้คำปรึกษากับคนทำงานบริการได้ที่สถานที่ตรวจของเรา
การตรวจคัดกรองปากมดลูก
HPV บางสายพันธ์อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง การตรวจปากมดลูกเป็นประจำจะทำให้คุณพบเชื้อไวรัสบริเวณปากมดลูก และการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมาก บุคคลที่มีสิทธิ์และมีอายุระหว่าง 25-74 ปี ควรตรวจคัดกรองปากมดลูกทุก ๆ ห้าปีจนกว่าจะอายุครบ 74 ปี
บุคคลที่มีอายุเกิน 25 ปี ทุกคนที่มีปากมดลูกและมีเพศสัมพันธ์ควรตรวจคัดกรองปากมดลูกทุก ๆ ห้าปี ถึงแม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม เนื่องจากวัคซีนไม่สามารถป้องกัน HPV ทุกสายพันธ์ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้การตรวจคัดกรองปากมดลูก
การตรวจคัดกรองปากมดลูก (CST) เป็นบริการฟรีสำหรับบุคคลที่มีสิทธิ์ในการรักษา แต่แพทย์อาจจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการให้คำปรึกษาในการเข้ารับการตรวจ แพทย์บางราย คลินิกสุขภาพทางเพศ และศูนย์สุขภาพบางแห่งให้บริการโดยเรียกเก็บเงินจากรัฐบาล ซึ่งหมายความว่าคุณไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
การใช้ถุงยางอนามัยและแผ่นยางอนามัย
- ถุงยางอนามัยและแผ่นยางอนามัยจะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อ HPV ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด
- บริเวณผิวหนังที่มีถุงยางอนามัย ถุงมือ แผ่นยางอนามัย หรืออุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ คลุมอยู่เท่านั้นที่จะได้รับการป้องกันจากไวรัส
- การที่ผิวหนังสัมผัสกับอวัยวะอื่น ๆ ที่ติดเชื้อ (เช่น ลูกอัณฑะ ปากช่องคลอด และบั้นท้าย) โดยตรงสามารถแพร่เชื้อไวรัสระหว่างมีเพศสัมพันธ์ได้
- ความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อ HPV นั้นมีอยู่เสมอในบุคคลที่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าคุณจะระวังตัวมากแค่ไหนก็ตาม
การตรวจ
ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อ HPV มีดังนี้ คุณสามารถดูรายชื่อคลินิกสุขภาพทางเพศที่ยินดีให้คำปรึกษากับคนทำงานบริการได้ที่สถานที่ตรวจของเรา
วิธีตรวจ
- แพทย์หรือพยาบาลทำการตรวจร่างกายหรือตรวจดูด้วยตาเปล่า
- การตรวจคัดกรองปากมดลูกเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจหาเชื้อ HPV หากคุณมีปากมดลูก
ควรตรวจเมื่อใด
- หากคุณหรือคู่นอนของคุณมีตุ่มหรือหูดขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ
- หากคู่นอนของคุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นหูดหงอนไก่หรือมีอาการของโรค
- ทุกคนที่มีปากมดลูกและมีอายุระหว่าง 25-74 ปีควรเข้ารับการตรวจคัดกรองปากมดลูก (CST) ทุก ๆ ห้าปี (แทนการตรวจทางเซลล์วิทยา PAP test ทุก ๆ สองปี ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นการตรวจ CST แทน)
- เรามีข้อมูลเพิ่มเติมมากมายเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองปากมดลูก
ข้อมูลอื่น ๆ
- แพทย์บางราย คลินิกและศูนย์สุขภาพบางแห่งให้บริการฟรีโดยเรียกเก็บจากรัฐบาลแทน ซึ่งก็หมายความว่าไม่มีค่าใช้จ่ายที่คุณต้องออกเอง
- ขณะนี้ยังไม่มีการตรวจคัดกรองหาเชื้อ HPV ในผู้ที่ไม่มีปากมดลูก หากคุณกังวลว่าคุณอาจจะติดเชื้อ HPV โปรดปรึกษาแพทย์
- คนข้ามเพศที่มีปากมดลูกและมีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไปต้องตรวจคัดกรองปากมดลูก ไม่ว่าประวัติฮอร์โมนหรืออัตลักษณ์ทางเพศจะเป็นอย่างไรก็ตาม ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองปากมดลูกมีดังนี้
- หากคุณเคยศัลยกรรมผ่าตัดเปลี่ยนองคชาตเป็นช่องคลอด คุณยังคงสามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อ HPV และดูการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ช่องคลอดได้
การรักษา
ไม่มีวิธีรักษาใดที่แสดงให้เห็นว่าสามารถกำจัดเชื้อ HPV ออกจากร่างกายหรือหยุดการแพร่เชื้อได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถรักษาอาการที่เกิดจากการติดเชื้อได้
ข้อมูลที่คุณต้องทราบเกี่ยวกับการรักษา HPV มีดังนี้
วิธีรักษา
- มีวิธีรักษามากมายที่สามารถกำจัดหูดได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน และตำแหน่งที่เกิดหูด
- วิธีรักษาที่แพร่หลายที่สุดคือวิธีที่คุณสามารถรักษาได้ด้วยตนเอง คุณสามารถหาซื้อและทายาชนิดป้ายที่เรียกว่าโพโดฟิลลิน (Podophyllin) วิธีนี้เหมาะสำหรับหูดภายนอกที่ทายาถึงง่าย ๆ ส่วนวิธีรักษาอื่น ๆ ได้แก่การจี้เย็น (การบำบัดด้วยความเย็น) ครีมกระตุ้นภูมิคุ้มกันหรือผ่าตัดออกด้วยเลเซอร์หรือใบมีด
- การกำจัดหูดออกไม่ได้เป็นการ ‘รักษา’ เชื้อ HPV ให้หายไป
- เป็นเรื่องปกติมากที่จะกลับมาเป็นหูดอีกหลังสิ้นสุดการรักษา หากเกิดหูดซ้ำคุณก็ต้องรักษาใหม่อีกครั้ง
- การรักษายังสามารถทำได้หลังจากตรวจเจอเซลล์ปากมดลูกผิดปกติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่ปากมดลูก
ค่าใช้จ่ายและข้อมูลอื่น ๆ
- หูดในกลุ่มคน 10-20% จะหายไปภายในสามถึงสี่เดือน แม้ว่าจะไม่ได้รับการรักษาก็ตาม
- คลินิกสุขภาพทางเพศมักจะไม่เรียกเก็บค่ารักษาโดยเรียกเก็บจากรัฐบาลแทน แม้คุณจะไม่มีสวัสดิการ Medicare การรักษาก็น่าจะฟรี
- หากคุณพบแพทย์ GP คุณอาจต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือฟรีโดยแพทย์เรียกเก็บเงินจากรัฐบาลแทน
หูดหงอนไก่อาจกระทบต่องานของฉันอย่างไร
ข้อควรพิจารณาในทางปฏิบัติ
นัยสำคัญต่อการปฏิบัติงาน
- วิธีเดียวในการป้องกันการติดเชื้อ HPV คือการงดการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งคนทำงานบริการส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้
- หากคุณมีเชื้อไวรัสสายพันธุ์ชนิดความเสี่ยงสูง แพทย์จะให้คำปรึกษาถึงขั้นตอนรักษาต่อไปกับคุณ
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หากคุณมีหูดหงอนไก่ที่คุณสามารถเห็นหรือสัมผัสได้ เนื่องจากจะแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ง่ายมาก หากลูกค้ามีหูดหงอนไก่ คุณสามารถปฏิเสธที่จะให้บริการหรือให้บริการอื่นแทนได้
- แนะนำให้คุณหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการรักษา หากเป็นไปได้
- การรักษาบางประเภทสามารถทำให้ถุงยางอนามัยที่ทำจากยางธรรมชาติเสื่อมประสิทธิภาพและ/หรือทำให้ผิวหนังระคายเคือง ผิวหนังที่ระคายเคืองหรือแตก อาจทำให้คุณเสี่ยงที่จะติด STI ประเภทอื่นมากขึ้น
- หากคุณเอาหูดหงอนไก่ออกไปแล้ว แนะนำให้คุณรอจนกว่าผิวหนังจะหายดีก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ แผลเปิดจะทำให้คุณเสี่ยงติดโรค STI/BBV ประเภทอื่นมากขึ้น
- แม้ว่าคุณจะยังสามารถแพร่เชื้อ HPV ได้เมื่อไม่มีหูดแล้วก็ตาม แต่ระดับไวรัสที่ลดลงทำให้มีการแพร่เชื้อได้น้อยลง