This post is also available in: English (อังกฤษ) 简体中文 (จีนประยุกต์) 한국어 (เกาหลี)
ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STI) ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยปกติจะแพร่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนักหรือปากและ/หรือการสัมผัสกันแบบเนื้อแนบเนื้อ ซิฟิลิสจะทำให้เกิดตุ่มแผลที่ไม่เจ็บปวด (เรียกว่าแผลริมแข็ง) ซึ่งสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ง่าย ซิฟิลิสแพร่จากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งผ่านการสัมผัสแผลโดยตรง แผลของผู้ที่มีเชื้อซิฟิลิสอาจพบได้ที่บริเวณช่องคลอด ทวารหนัก อวัยวะเพศชาย ถุงอัณฑะและบางครั้งที่ริมฝีปากและปาก
ผู้ป่วยซิฟิลิสอาจแสดงอาการในบางครั้งและบางครั้งอาการก็สงบลง อาการอาจสังเกตเห็นได้ไม่ง่ายนัก ไม่ว่าจะแสดงอาการหรืออาการสงบอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ง่ายโดยไม่รู้ตัว วิธีที่ดีที่สุดที่จะทราบคือการเข้ารับการตรวจเป็นประจำ
การติดเชื้อซิฟิลิสแบ่งออกเป็นสามระยะหลัก: ระยะที่หนึ่ง สอง และสาม สามารถรักษาซิฟิลิสให้หายขาดได้ง่ายด้วยยาหากเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ หากไม่รักษา อาการก็จะเลวร้ายลงและอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้
ลักษณะผิดสังเกตและอาการ
Content warning: click to show images of symptoms
ซิฟิลิสแต่ละระยะมีอาการแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปมักจะไม่แสดงอาการ ดังนั้น ต้องเข้ารับการตรวจเป็นประจำ
ระยะที่หนึ่ง – ‘ซิฟิลิสระยะที่หนึ่ง’
ซิฟิลิสระยะที่หนึ่งติดต่อได้ง่ายมาก อาการมักจะเริ่มจากการเป็นตุ่มแผล (แผลริมแข็ง) บริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนักหรือปาก ผู้ที่มีซิฟิลิสอยู่ในระยะที่หนึ่งส่วนใหญ่จะมีแผลริมแข็งแค่เพียงจุดเดียวเท่านั้น แต่บางคนจะมีหลายจุด
ซิฟิลิสอาจไม่แสดงอาการ แต่หากมีอาการ อาการมักจะเกิดภายใน 3-4 สัปดาห์หลังสัมผัสเชื้อ (แต่อาจใช้เวลาถึง 90 วันกว่าตุ่มจะปรากฏ) หากทิ้งไว้โดยไม่ได้รักษา ซิฟิลิสระยะที่หนึ่งก็จะลุกลามไปสู่ระยะที่สองและสาม
ซิฟิลิสระยะที่หนึ่งมักจะไม่แสดงอาการ หากมีอาการ อาการเหล่านี้อาจได้แก่
- มีตุ่มหนองเม็ดเล็ก ๆ หรือแตกเป็นแผล ไม่มีอาการเจ็บหรือกดแล้วเจ็บ
- มีตุ่มนูนขนาดใหญ่ถึงสองเซนติเมตร
- มีปื้นมันวาวหรือเป็นเมือกบนผิวหนัง ที่อาจดูเหมือนแผลพุพอง
- มีตุ่มคล้ายกับหูด แต่หายไปเอง
- มีตุ่มคล้ายกับตุ่มเริม แต่หายไปเองและอาจจะไม่เจ็บ
- มีจุดตามร่างกายที่อาจจะดูเหมือนผดผื่นขนาดเล็ก ไม่คัน
- มีจุดที่ไม่มีอาการเจ็บตรงต่อมทอนซิล
- รู้สึกเหมือนถูกกัดที่แก้ม
ซิฟิลิสระยะที่หนึ่งจะเป็นอยู่ไม่กี่สัปดาห์ และตุ่มแผลอาจจะไม่เจ็บปวดหรือกดแล้วเจ็บ ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงไม่สังเกตเห็นถึงอาการ อาการจะหายไปเองหลังจากผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ จากนี้ จะเข้าสู่ซิฟิลิสระยะที่สอง
ซิฟิลิสระยะที่หนึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมกับระยะที่สองได้เป็นเวลาสองสามสัปดาห์
ระยะที่สอง – ‘ซิฟิลิสระยะที่สอง’
หากคุณไม่ได้รับการรักษาในช่วงที่เริ่มมีอาการ แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของซิฟิลิสก็อาจจะเข้าสู่กระแสเลือดและคุณจะเป็นซิฟิลิสระยะที่สอง อาการของระยะที่สองจะเป็นอยู่ 2-8 สัปดาห์หลังจากเกิดซิฟิลิสระยะแรก ระยะที่สองนี้มักจะสังเกตได้จากผื่นที่ไม่คัน หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา ซิฟิลิสระยะที่สองก็จะลุกลามไปสู่ซิฟิลิสระยะแฝงหรือระยะที่สาม
อาการของซิฟิลิสระยะที่สองอาจมีน้อยมากหรือไม่มีเลย ผลกระทบและอาการของซิฟิลิสระยะที่สองอาจได้แก่
- ผื่นตามร่างกาย ซึ่งเป็น ๆ หาย ๆ และอาจจะ
- เป็นสีออกแดง ๆ หรือน้ำตาล ๆ หรือเป็นจ้ำๆ
- ไม่คัน
- อาจจะเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย แต่ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณมือหรือฝ่าเท้า
- ผื่นเป็น ๆ หาย ๆ และอาจจะมีขนาดเล็กและมองไม่เห็น
- รู้สึกไม่สบายทั่ว ๆ ไป ซึ่งจะเป็น ๆ หาย ๆ รวมถึง
- อาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่
- เจ็บคอ
- เหนื่อยล้า ไม่มีแรง
- ต่อมน้ำเหลืองบวม
- ปวดตามข้อ
- เบื่ออาหาร
- ผมร่วง (สังเกตไม่ได้ชัดเจนเสมอไป)
อาการเหล่านี้อาจจะเป็น ๆ หาย ๆ หรือดูเหมือนจะหายไปได้เอง
ซิฟิลิสระยะที่สองอาจเป็นอยู่นานหลายปีก่อนที่จะเข้าสู่ระยะที่สาม
ผื่นที่อวัยวะเพศ
ในช่วงซิฟิลิสระยะที่สอง ผู้ที่มีเชื้ออาจมี ‘ผื่นที่อวัยวะเพศ’ เกิดขึ้น โดยเกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดซิฟิลิสเริ่มกระจายเข้าสู่ภายในผิวหนังตามรอยพับที่อวัยวะเพศ ปากและช่องคลอด ลักษณะผื่นนี้ไม่มีอาการที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อมากขึ้นเนื่องจากมีแบคทีเรียรวมตัวอยู่เป็นจำนวนมาก
การรักษาซิฟิลิสจะช่วยรักษาให้ผื่นที่อวัยวะเพศหายไปด้วย
ซิฟิลิสระยะแฝง
หากไม่ได้รับการรักษา ซิฟิลิสระยะที่สองก็อาจพัฒนาเป็นซิฟิลิสระยะแฝง (หมายถึง ‘ซ่อนอยู่’ หรือ ‘ระยะพักตัว’) ผู้ที่มีซิฟิลิสทุกคนไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ระยะนี้ ส่วนผู้ที่เข้าสู่ระยะนี้จะไม่มีอาการ อาจจะเป็นเวลานานหลายปี ในบางกรณี อาการจะไม่กลับมาเกิดขึ้นอีก แต่เชื้อจะไม่หายไป แบคทีเรียยังคงหลบซ่อนตัวอยู่เงียบ ๆ ภายในร่างกายและจะยังคงปรากฏให้เห็นได้จากการตรวจ
ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อของระยะแฝงต่ำกว่าระยะอื่น ๆ มาก แต่ก็ยังสามารถแพร่เชื้อได้ รวมถึงระหว่างการตั้งครรภ์ด้วย
ระยะที่สาม – ‘ซิฟิลิสระยะแฝงช่วงปลาย’
ซิฟิลิสระยะที่สามอาจเกิดทับซ้อนกับซิฟิลิสระยะที่สอง
ซิฟิลิสระยะที่สามอาจเกิดได้นานถึง 30 ปีหลังจากระยะแรก ในระยะนี้ แบคทีเรียอาจทำลายอวัยวะเกือบทุกส่วนของร่างกาย รวมถึงหัวใจ สมอง ไขสันหลัง ตาและกระดูก ทำให้เกิดโรคหัวใจ อาการทางจิต ตาบอด หูหนวกและโรคทางระบบประสาท
ประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยซิฟิลิสที่ไม่ได้รับการรักษาจะเป็นซิฟิลิสระยะที่สาม อาการของซิฟิลิสระยะที่สามแตกต่างกันตามระบบอวัยวะที่ได้รับผลกระทบ โดยปกติเชื้อจะไม่ติดต่อกันในระยะนี้
ซิฟิลิสระยะแฝงช่วงปลายสามารถวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจซิฟิลิสจากเลือด
อาการและผลกระทบของซิฟิลิสระยะที่สามอาจได้แก่
- ปัญหาในการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ
- อาการชา
- ปัญหาด้านการมองเห็น
- ปัญหาด้านการได้ยิน
- อาการสมองเสื่อม
- อาการชัก เห็นภาพหลอน โรคหลอดเลือดสมอง อาการผิดปกติทางจิต
- กลั้นปัสสาวะไม่ได้
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- มีรอยโรคที่ไม่ได้เกิดจากมะเร็งผิวหนัง ปาก และเนื้อเยื่อภายใน
- หลอดเลือดแดงใหญ่ของหัวใจอักเสบ (หลอดเลือดแดงที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย) อาจทำให้ผนังหลอดเลือดแดงใหญ่บางลงและอาจทำให้เสียชีวิตได้
ไม่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อจากการสัมผัสผิวหนังเมื่อเป็นซิฟิลิสระยะที่สาม
ซิฟิลิสระยะที่สามรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการวินิจฉัยและเข้ารับการรักษา แต่หากเกิดผลกระทบต่ออวัยวะและร่างกายไปแล้วก็ไม่สามารถรักษาให้กลับคืนสู่สภาพปกติได้แม้ว่าจะรักษาซิฟิลิสแล้วก็ตาม ซิฟิลิสระยะที่สามอาจสร้างความเสียหายให้กับหัวใจและสมองอย่างถาวร
การแพร่เชื้อ
โดยปกติ โรคซิฟิลิสจะติดต่อจากการสัมผัสกันแบบเนื้อแนบเนื้อระหว่างมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนักหรือทางปากกับผู้ติดเชื้อใน 2 ระยะแรก นอกจากนี้ สามารถติดต่อกันได้จากการสัมผัสโดยตรงที่แผลเปิดบริเวณต่าง ๆ เช่น ริมฝีปาก ปาก หน้าอกหรืออวัยวะเพศ ผู้ป่วยซิฟิลิสระยะที่สามมักจะไม่สามารถแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้
ซิฟิลิสเป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ง่ายมาก หากมีผื่นหรือแผล แต่ก็สามารถติดต่อกันได้ถึงแม้ว่าผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ บางครั้งก็สามารถติดต่อกันได้ทางการปนเปื้อนของเลือด การบาดเจ็บจากเข็มฉีดยาหรือการใช้เข็มฉีดยาหรืออุปกรณ์ฉีดร่วมกัน
หญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อซิฟิลิสสามารถแพร่เชื้อให้แก่ทารกในครรภ์หรือขณะคลอดได้
ซิฟิลิสสามารถติดต่อกันได้จาก
- การทำกิจกรรมทางเพศใด ๆ ก็ตามที่อวัยวะเพศ ทวารหนักหรือปากของคุณสัมผัสกับแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดซิฟิลิส
- การถู การดุนและการสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อรูปแบบอื่น ๆ ที่สัมผัสกับอวัยวะเพศ ทวารหนักและ/หรือปาก
- การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักหรือช่องคลอดโดยไม่ป้องกัน
- การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักหรือช่องคลอดแบบป้องกัน/ปกคลุม แต่ผิวหนังสัมผัสกับบริเวณที่มีเชื้อซิฟิลิส
- การมีเพศสัมพันธ์ทางปากโดยไม่สวมถุงยางอนามัย
- การมีเพศสัมพันธ์ทางปากแบบป้องกัน/ปกคลุม แต่ปากสัมผัสกับบริเวณที่มีเชื้อ
- นิ้วของคุณสัมผัสกับตุ่มที่เกิดจากเชื้อซิฟิลิส จากนั้นสัมผัสเยื่อเมือกของตนเอง (เช่น ตา ด้านในจมูกหรือปาก หรืออวัยวะเพศ)
- การใช้เซ็กส์ทอยร่วมกัน
- ซิฟิลิสสยังติดกันได้ระหว่างตั้งครรภ์และคลอดบุตรด้วย
การสัมผัสน้ำลายกันแต่ไม่ได้สัมผัสบริเวณที่มีเชื้อซิฟิลิสภายในช่องปากของอีกคนโดยตรง ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ
คุณไม่สามารถติดซิฟิลิสจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกัน การกอด การจับมือ การไอ การจาม การใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกันหรือการนั่งบนฝาชักโครก
การติดต่อจากเลือดสู่เลือด
แม้ว่าจะเกิดขึ้นได้ยากมาก แต่ซิฟิลิสสามารถติดต่อจากเลือดสู่เลือดได้
การแพร่เชื้อซิฟิลิสจากเลือดสู่เลือดสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อมีการใช้เข็มฉีดยาหรืออุปกรณ์ฉีดร่วมกัน หรือเมื่อเลือดสัมผัสกับแผลเปิดหรือแผลที่มีเลือดไหล เช่น แผลเปื่อยหรือมีเลือดออกตามไรฟัน มีคนน้อยมากที่จะติดซิฟิลิสจากการสัมผัสเลือด
การป้องกัน
เนื่องจากซิฟิลิสอาจจะไม่แสดงอาการ จึงแนะนำเป็นอย่างยิ่งให้เข้ารับการตรวจสุขภาพทางเพศเป็นประจำ คุณสามารถดูรายชื่อคลินิกสุขภาพทางเพศที่ยินดีต้อนรับคนทำงานบริการได้ที่สถานที่ตรวจของเรา
วิธีเพิ่มเติมในการป้องกันการแพร่เชื้อซิฟิลิส ได้แก่
- การตรวจลูกค้าเพื่อหาอาการของ STI ที่สังเกตเห็นได้ก่อนให้บริการ ใช้ไฟส่องและถุงมือ หากทำได้
- ล้างมือหลังจากตรวจ หากคุณไม่ได้สวมถุงมือ
- ใช้ถุงยางอนามัยและแผ่นยางอนามัยขณะที่สัมผัสอวัยวะเพศ – อย่าลืมว่าโรคนี้มักจะไม่แสดงอาการ
- ใช้ถุงยางอนามัยและ/หรือแผ่นยางอนามัยระหว่างที่มีออรัลเซ็กส์/ใช้ปากกับทวารหนักและตรวจหาอาการของซิฟิลิสบริเวณที่ถุงยางอนามัยหรือแผ่นยางอนามัยไม่ได้ปกคลุม
- ใช้ถุงยางอนามัยหุ้มเซ็กส์ทอย และล้างทำความสะอาดแล้วเปลี่ยนถุงใหม่ก่อนใช้กับตัวเอง
- ใช้ผ้าพันแผลปิดบริเวณที่ดูเหมือนเป็นอาการของซิฟิลิสระยะแรก
- คลุมบริเวณที่แสดงอาการของซิฟิลิสระยะแรกด้วยผ้าเช็ดตัว
- คิดทบทวนเรื่องการจูบแบบดูดดื่มอีกครั้ง
- ถูหรือใช้ลำตัวไล้ โดยให้อีกฝ่ายนอนคว่ำเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้อวัยวะเพศสัมผัสบริเวณที่แสดงอาการของซิฟิลิสระยะแรก
- ลดการสัมผัสอวัยวะเพศ
ใช้เข็มฉีดยาและอุปกรณ์ฉีดใหม่ที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วเสมอ และทิ้งอย่างปลอดภัย คุณสามารถใช้เว็บไซต์นี้เพื่อค้นหาโครงการเข็มฉีดยาที่ใกล้บ้านคุณ (NSP)
การตรวจ
ข้อมูลการตรวจซิฟิลิสมีดังต่อไปนี้ คุณสามารถดูรายชื่อคลินิกสุขภาพทางเพศที่ยินดีต้อนรับคนทำงานบริการได้ที่สถานที่ตรวจของเรา
วิธีตรวจ
- การตรวจเลือด
- การใช้ไม้สวอบเก็บตัวอย่างผิวหนังที่มีอาการซิฟิลิสระยะแรก
ควรตรวจเมื่อใด
- เป็นไปได้ที่จะตรวจพบเชื้อซิฟิลิสจากการตรวจเลือด หลังจากได้รับเชื้อมาเพียง 1-2 สัปดาห์ แต่มีแนวโน้มที่จะตรวจพบได้มากขึ้นหลังจาก 6 สัปดาห์เป็นต้นไป
- เข้ารับการตรวจ หากคุณคิดว่าอาจจะมีอาการของซิฟิลิส
- เข้ารับการตรวจ หากคุณคิดว่าอาจจะสัมผัสเชื้อซิฟิลิส
ข้อมูลอื่น ๆ
- การตรวจหาซิฟิลิสควรรวมอยู่ในการตรวจ STI ตามปกติ แต่ก็ควรสอบถามแพทย์หรือพยาบาลของคุณเพื่อให้แน่ใจว่ามีการตรวจโรคนี้ให้คุณด้วย
- คลินิกสุขภาพทางเพศมักจะไม่เรียกเก็บค่าตรวจ ถึงแม้ว่าคุณจะไม่มีสวัสดิการ Medicare การตรวจก็น่าจะฟรี
- คุณอาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือฟรีโดยแพทย์เรียกเก็บเงินจากรัฐบาล หากคุณพบแพทย์
การรักษา
ซิฟิลิสรักษาได้และการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะดีที่สุด ข้อมูลที่คุณต้องทราบเกี่ยวกับการรักษาโรคนี้มีดังนี้
วิธีรักษา
- การฉีดยาปฏิชีวนะบริเวณแก้มก้นหรือข้างสะโพกโดยแพทย์หรือพยาบาลที่คลินิก
- การฉีดยาเพียงครั้งเดียวจะรักษาซิฟิลิสระยะแรกให้หายขาดได้ แต่สำหรับระยะต่อมาจะต้องฉีดยา 3 ครั้ง โดยเว้นช่วงครั้งละหนึ่งสัปดาห์
- หากคุณแพ้ยาเพนิซิลิน ก็สามารถรับประทานยา 14 หรือ 28 วันแทนได้
ค่าใช้จ่ายและข้อมูลอื่น ๆ
- คุณจะได้รับการตรวจซ้ำอีกครั้งหลังการรักษา 3 เดือน และมักจะตรวจอีกหลังการรักษาไปแล้ว 6 เดือนและ 12 เดือน
- ซิฟิลิสรักษาให้หายขาดได้ แต่ร่างกายคุณจะไม่สร้างภูมิคุ้มกัน คุณจึงอาจติดซิฟิลิสได้อีก
- คลินิกสุขภาพทางเพศมักจะไม่เรียกเก็บค่ารักษา ถึงแม้ว่าคุณจะไม่มีสวัสดิการ Medicare การรักษาก็น่าจะฟรี
- คุณอาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือฟรีโดยแพทย์เรียกเก็บเงินจากรัฐบาล หากคุณพบแพทย์ GP
- การติดเชื้อซิฟิลิสสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการได้รับและการแพร่เชื้อเอชไอวีได้
ซิฟิลิสอาจจะกระทบต่องานของฉันได้อย่างไร
ข้อควรพิจารณาในทางปฏิบัติ
- ขอแนะนำให้คุณงดการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 7 วันหลังจากรักษาโรคแล้ว
- หากคุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ได้ การใช้ถุงยางอนามัยจะช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อซิฟิลิส แต่ไม่สามารถรับประกันได้เนื่องจากถุงยางอนามัยจะป้องกันเฉพาะผิวหนังส่วนที่สวมใส่เท่านั้น
- ยาปฏิชีวนะบางประเภทสามารถลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (‘ยาคุม’) ได้
- หากคุณมักเป็นเชื้อราเมื่อทานยาปฏิชีวนะ คุณก็ควรทานพวกโพรไบโอติกส์ระหว่างและหลังการรักษาเพื่อป้องกันภาวะเชื้อราในช่องคลอด
- คุณควรแจ้งบุคคลที่ทำงานขึ้นคู่กับคุณด้วย หากคุณมีผลตรวจซิฟิลิสเป็นบวก
ข้อควรพิจารณาด้านกฎหมายและการแจ้งผลตรวจ
- บางรัฐและดินแดนอาจจะมีกฎหมายที่กำหนดว่าการทำงานบริการหรือการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างที่ป่วยเป็นโรค BBV หรือ STI มีความผิด ตรวจดูข้อมูลทางกฎหมายและ BBV STI หรือติดต่อองค์กรเพื่อคนทำงานบริการในพื้นที่ เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม
- การติดตามผู้สัมผัสโรคในผู้ที่เป็นอดีตคู่นอน (หรือที่เรียกว่า ‘การแจ้งผลแก่ผู้สัมผัสโรค’) เป็นการแจ้งผลแก่ผู้สัมผัสโรค BBV และ STI บางประเภท ซึ่งการแจ้งผลแก่ผู้สัมผัสโรคนี้ควรดำเนินการโดยคำนึงถึงความเสี่ยงในการแพร่เชื้อและเคารพต่อสิทธิส่วนบุคคลของคนทำงานบริการ องค์กรเพื่อคนทำงานบริการในพื้นที่ของคุณสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับช่องทางการแจ้งเตือนคู่นอนเพื่อรับรองว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ของคุณ
- ซิฟิลิสเป็นโรคที่จำเป็นต้องแจ้งผลทั่วประเทศในออสเตรเลีย ซึ่งก็หมายความว่าผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคซิฟิลิสจะถูกรายงานไปยังหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐหรือดินแดนนั้น ๆ โดยไม่มีการระบุชื่อผู้ป่วย