เอชไอวีและเอดส์

This post is also available in: English (อังกฤษ) 简体中文 (จีนประยุกต์) 한국어 (เกาหลี)

ไวรัสที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของมนุษย์บกพร่อง (HIV) เป็นไวรัสที่ติดต่อทางเลือด (BBV) และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STI) ที่ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เอชไอวีที่ไม่ได้รับรักษาจะทำลายเซลล์ที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงลงช้า ๆ จากการต่อสู้กับโรค

หากไม่ได้รับการรักษา เอชไอวีอาจจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงอย่างมากภายในระยะเวลา 10 ปี เมื่อถึงตอนนี้ร่างกายจะไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคหรือหยุดการพัฒนาของเชื้อมะเร็งได้อีกต่อไป ภาวะนี้เรียกว่าภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอดส์ (AIDS) เอดส์พบได้น้อยมากในออสเตรเลียเนื่องจากมีวิธีควบคุมเชื้อเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพสูง

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเอชไอวี แต่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้ารับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพ จะไม่พัฒนาไปเป็นเอดส์ และสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพดีได้ เนื่องจากยาเหล่านี้จะช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสในเลือด (‘ปริมาณเชื้อไวรัสในเลือด’) และช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงขึ้น 

การรักษาการติดเชื้อเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดปริมาณเชื้อไวรัสในเลือดให้น้อยลงจนอยู่ในระดับที่ตรวจไม่เจอเชื้อ ซึ่งก็หมายความว่าพวกเขาไม่สามารถแพร่เชื้อเอชไอวีไปยังคู่นอน (ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้) สิ่งนี้เรียกว่า ‘ไม่เจอ เท่ากับ ไม่แพร่ (U=U)’

การตีตราและการเลือกปฏิบัติ

ถึงแม้ว่าจะมีการปรับปรุงการรักษาและคุณภาพชีวิตจนดีขึ้นมากแล้ว แต่การตีตราและการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับเอชไอวียังคงมีอยู่  ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีอาจถูกเลือกปฏิบัติและต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเนื่องจากความเชื่อและทัศนคติที่ล้าสมัย ไม่ถูกต้อง และเป็นอันตราย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต สุขภาพกายและสุขภาพทางสังคม คุณภาพชีวิตโดยรวม เสถียรภาพทางการเงินและการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพของพวกเขาได้

การตีตราผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีอาจทำให้ผู้มีเชื้อเอชไอวีเข้าไม่ถึงการรักษาและการดูแลที่เหมาะสม หรืออาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับการตรวจเอชไอวีในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เป็นเรื่องปกติที่ผู้มีเชื้อเอชไอวีจะเริ่มตีตราตนเอง โดยเริ่มยอมรับทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับเอชไอวีว่าเป็นเรื่องปกติและกล่าวโทษตนเอง

การตระหนักถึงการตีตราและการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับเอชไอวีมีความจำเป็นต่อการลดการแพร่เชื้อเอชไอวีและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีเชื้อร้ายแรงนี้

ติดต่อองค์กรภาคประชาสังคม PLHIV (ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี)ในพื้นที่เพื่อสอบถามข้อมูลและขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการจัดการกับปัญหาการตีตราและการเลือกปฏิบัติ

ลักษณะผิดสังเกตและอาการ

คนที่มีเชื้อเอชไอวีเป็นครั้งแรกอาจไม่แสดงอาการ ส่วนคนอื่นอาจมีอาการป่วยคล้ายกับเป็นไข้หวัดใหญ่เรียกว่า ‘อาการป่วยจากปฏิกิริยาตอบโต้ของร่างกายโดยการสร้างแอนติบอดี้’ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นประมาณ 1-4 สัปดาห์หลังติดเชื้อ และอาจแยกจากอาการติดเชื้ออื่น ๆ ได้ยาก

คนที่มีเชื้อเอชไอวีเป็นครั้งแรกอาจ

  • มีไข้ 
  • เหนื่อยล้าผิดปกติ
  • อาการบวมที่ต่อมน้ำเหลือง
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • แผลเจ็บที่ปาก ทวารหนักหรืออวัยวะเพศ
  • อาการปวดศีรษะ
  • ผื่น โดยปกติจะเกิดขึ้นบริเวณลำตัว
  • ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ
  • น้ำหนักตัวลดลง

หลังจากอาการป่วยในช่วงแรก ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีที่ไม่ได้รับการรักษามักจะไม่มีอาการไปอีกหลายปี แม้ว่าจะมีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายก็ตาม ด้วยเหตุนี้ การตรวจเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจว่ามีเชื้อหรือไม่ คุณสามารถดูรายชื่อคลินิกสุขภาพทางเพศที่ยินดีต้อนรับคนทำงานบริการได้ที่สถานที่ตรวจของเรา

โปรดทราบว่าผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีจะไม่มีอาการให้สังเกตเมื่อทำการตรวจลูกค้าหาอาการของ STI  

การแพร่เชื้อ

ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีที่เข้ารับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพจะไม่สามารถแพร่เชื้อเอชไอวีให้คู่นอนได้ เนื่องจากการรักษาที่มีประสิทธิภาพสามารถลดระดับเชื้อเอชไอวีในน้ำอสุจิหรือสารคัดหลั่งจากช่องคลอดให้น้อยลงจนถึงระดับที่ตรวจไม่เจอเชื้อ

โดยทั่วไปแล้วเชื้อเอชไอวีจะแพร่สู่กันก็ต่อเมื่อผู้ที่มีเชื้อไม่ทราบว่าร่างกายมีเชื้อไวรัสอยู่ หรืออยู่ในระยะแรกของการติดเชื้อเอชไอวี เมื่อปริมาณเชื้อไวรัสในเลือด (จำนวนเชื้อไวรัสในร่างกาย) สูง

ของเหลวในร่างกายที่สามารถแพร่เชื้อเอชไอวีได้คือเลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด และน้ำนมแม่เท่านั้น

การแพร่เชื้อสามารถเกิดได้จาก

  • การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักหรือช่องคลอดโดยไม่ป้องกัน เช่น ไม่สวมถุงยางอนามัย ไม่รับประทานยา PrEP หรือปริมาณเชื้อไม่อยู่ในระดับที่ตรวจไม่เจอเชื้อ
  • การมีเพศสัมพันธ์ทางปากโดยไม่ป้องกัน ถึงแม้ว่าจะเกิดได้น้อยมาก
  • การใช้เข็มฉีดยาหรืออุปกรณ์ฉีดร่วมกัน
  • ‘การบาดเจ็บจากเข็ม’ (เช่น ระหว่างให้บริการ BDSM บางประเภท)
  • เลือดหรือสารคัดหลั่งจากร่างกายเข้าตา
  • การสัก การเจาะและการกระทำอื่น ๆ ที่ใช้เข็มหรืออุปกรณ์ที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ
  • การแพร่เชื้อจากมารดาสู่ทารกในระหว่างตั้งครรภ์ ให้กำเนิดบุตรหรือให้นมบุตร
  • ได้รับบริจาคเลือด ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะเกิดได้น้อยมาก

เอชไอวีไม่แพร่สู่กันผ่าน

  • ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำลาย อาเจียนหรือเหงื่อ (ตราบเท่าที่ไม่มีเลือดปะปน)
  • การจูบ
  • การไอหรือจาม
  • การจับมือ
  • การใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารหรือแก้วน้ำร่วมกัน

เชื้อเอชไอวีติดต่อกันได้บ่อยที่สุดจากการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักหรือช่องคลอดโดยไม่ป้องกัน การมี STI ที่ทำให้มีแผลหรือแผลเปื่อยบริเวณอวัยวะเพศ จะเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อเอชไอวีขณะมีเพศสัมพันธ์

การแพร่เชื้อเอชไอวีและประจำเดือน (รอบเดือน)

เลือดประจำเดือนสัมผัสกับผิวหนังที่ไม่มีบาดแผลจะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อเอชไอวี หากสัมผัสกับผิวหนังที่ถลอกหรือกลืนเข้าไป ก็อาจจะแพร่เชื้อเอชไอวีได้แต่ก็มีโอกาสน้อย เลือดประจำเดือนของผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีในระดับที่ตรวจไม่เจอจะไม่สามารถแพร่เชื้อเอชไอวีได้

การป้องกัน

บางสิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อเอชไอวี มีดังต่อไปนี้

  • การใช้ถุงยางอนามัย แผ่นยางอนามัย ถุงมือและอุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ ขณะมีเพศสัมพันธ์ 
  • การรักษาเพื่อป้องกัน (TasP) PEP และ PrEP จะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อเอชไอวีได้อย่างมีนัยสำคัญ (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ด้านล่าง)
  • ใช้สารหล่อลื่นสูตรน้ำหรือซิลิโคนระหว่างมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากไม่ได้ใช้อุปกรณ์ป้องกัน
  • ปกปิดรอยแผล รอยถลอก และบาดแผลด้วยผ้าปิดแผลแบบกันน้ำเพื่อลดแนวโน้มในการติดต่อจากเลือดสู่เลือด
  • ระมัดระวังโอกาสที่จะเกิดหรือมีเลือดในสถานที่ทำงานและลดความเสี่ยงในการสัมผัสเลือดของผู้อื่น
  • ล้างมือให้สะอาดเสมอ หากคุณสัมผัสกับเลือดของผู้อื่น
  • ใช้กระดาษอเนกประสงค์ น้ำสบู่ ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ หรือสารฟอกขาวที่ไม่เจือจางเพื่อเช็ดทำความสะอาดเลือดเสมอ สวมถุงมือหากทำได้
  • Viraclean น้ำยาทำความสะอาดที่ใช้บ่อยในอุตสาหกรรมงานบริการสามารถป้องกันเชื้อเอชไอวีได้ คุณสามารถใช้ทำความสะอาดเซ็กส์ทอยและฆ่าเชื้อบนพื้นผิวต่าง ๆ ที่อาจจะสัมผัสกับสารคัดหลั่งของร่างกายผู้ที่มีเชื้อ
  • ใช้เข็มฉีดยาและอุปกรณ์ฉีดที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วเสมอ และกำจัดทิ้งอย่างปลอดภัย คุณสามารถใช้เว็บไซต์นี้เพื่อค้นหาโครงการเข็มฉีดยาใกล้บ้านคุณ (NSP)
  • การหมั่นตรวจสุขภาพทางเพศสามารถช่วยให้ตรวจพบ STI ที่อาจทำให้คุณเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี คุณสามารถดูรายชื่อคลินิกสุขภาพทางเพศที่ยินดีให้บริการคนทำงานบริการได้ที่สถานที่ตรวจของเรา

การรักษาโดยการป้องกัน (TasP)

การรักษาโดยการป้องกัน (TasP) คือการใช้ยาเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีไปยังคู่นอน

การรักษาเอชไอวีช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ที่มีเชื้อเอชไอวียังคงทำงานได้ดีและลดความเสี่ยงในการลุกลามของโรคที่เกิดจากเชื้อเอชไอวี การรักษาเหล่านี้สามารถช่วยทำให้ระดับเชื้อเอชไอวี (ปริมาณเชื้อไวรัสในเลือด) ในเลือดและสารคัดหลังอื่น ๆ ของร่างกายอยู่ในระดับที่ ‘ตรวจไม่เจอเชื้อ’

ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่ในออสเตรเลียจะรับประทานยาเพียงวันละหนึ่งเม็ด ซึ่งมีตัวยา 2-3 ชนิดรวมกัน

การทดลองล่าสุด (HPTN052 PARTNER และการวิจัยOpposites Attract) ของออสเตรเลียได้ยืนยันว่าการรักษาเพื่อป้องกันสามารถช่วยป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีได้ ผลการศึกษาของโครงการวิจัยเหล่านี้พบว่าไม่มีการแพร่เชื้อเอชไอวีเกิดขึ้นในคู่รักที่ฝ่ายหนึ่งมีเชื้อเอชไอวีเป็นบวกและอีกฝ่ายเป็นลบ โดยที่ฝ่ายที่มีเชื้อเอชไอวีเป็นบวกนั้นมีปริมาณเชื้อไวรัสในเลือดอยู่ในระดับที่ตรวจไม่เจอเชื้อ

ไม่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อเอชไอวีจากผู้ที่เข้ารับการรักษาที่ปริมาณเชื้อไวรัสในเลือดอยู่ในระดับที่ตรวจไม่เจอเชื้อ

การป้องกันโรคก่อนสัมผัส (PrEP)

การป้องกันโรคก่อนสัมผัส (PrEP) คือการใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอในผู้ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี

อ่านเกี่ยวกับ PrEP ของเราหรือติดต่อองค์กรเพื่อคนทำงานบริการในพื้นที่เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม

การป้องกันโรคหลังการสัมผัส (PEP)

การป้องกันโรคหลังการสัมผัส (PEP) มีไว้สำหรับผู้ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวีที่อาจสัมผัสเชื้อเอชไอวี PEP คือการให้ยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน ซึ่งหากรับประทานภายใน 72 ชั่วโมง (3 วัน) หลังจากการสัมผัสเชื้อเอชไอวีแล้วจะสามารถลดโอกาสการติดเชื้อเอชไอวีลงได้อย่างมาก หลังจากมีความเสี่ยง เช่น ถุงยางอนามัยหลุดหรือฉีกขาด

หาอ่านข้อมูลเกี่ยวกับ PEP ของเราหรือติดต่อองค์กรเพื่อคนทำงานบริการในพื้นที่เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม

การตรวจ

วิธีเดียวที่จะทราบว่าคุณติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่คือการเข้ารับการตรวจ ข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีมีดังต่อไปนี้

คุณสามารถดูรายชื่อคลินิกสุขภาพทางเพศที่ยินดีต้อนรับคนทำงานบริการได้ที่สถานที่ตรวจของเรา

วิธีตรวจ

  • คุณสามารถตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้ด้วยการขอรับการตรวจเลือดจากแพทย์หรือที่คลินิกสุขภาพทางเพศ
  • บางสถานที่ให้บริการตรวจแบบรวดเร็ว การตรวจจะเป็นการเก็บตัวอย่างเลือดโดยเจาะที่ปลายนิ้วหรือเก็บตัวอย่างน้ำลาย การตรวจนี้สามารถแจ้งผลได้ภายใน 10-20 นาที แต่ผลตรวจที่เป็นบวกจะต้องได้รับการยืนยันโดยการตรวจเลือดอีกครั้งเสมอ
  • การตรวจด้วยตนเอง (หรือที่เรียกว่าการตรวจที่บ้าน) จะใช้วิธีเจาะเลือดจากปลายนิ้ว เช่นเดียวกับการตรวจแบบรวดเร็ว คุณอาจจะทราบผลภายใน 10-20 นาที แต่ผลตรวจที่เป็นบวกจะต้องได้รับยืนยันโดยการตรวจเลือดในห้องปฏิบัติการอีกครั้งเสมอ ปัจจุบัน มีชุดตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองประเภทเดียวที่อนุญาตให้จำหน่ายได้ในออสเตรเลีย อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเอกสารการตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองของ AFAO

ควรตรวจเมื่อใด

  • หากคุณคิดว่าคุณได้รับเชื้อเอชไอวี ให้พบแพทย์/แผนกฉุกเฉินเพื่อขอ PEP ภายใน 72 ชั่วโมง จากนั้น ให้เข้ารับการตรวจตามที่แพทย์สั่ง
  • ตรวจอย่างน้อยปีละสองครั้ง ให้เป็นหนึ่งในการตรวจสุขภาพทางเพศตามปกติ
  • คนส่วนใหญ่ที่รับเชื้อเอชไอวีจะตรวจได้ผลบวกภายใน 1 เดือน สำหรับคนส่วนน้อย อาจจะใช้เวลานานถึง 3 เดือน จึงตรวจพบเชื้อเอชไอวี

ข้อมูลอื่น ๆ

  • คลินิกสุขภาพทางเพศของรัฐจะไม่เรียกเก็บค่ารักษาโดยเรียกเก็บจากรัฐบาลแทน การตรวจก็น่าจะฟรีแม้ว่าคุณไม่มีสวัสดิการ Medicare สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจเอชไอวี หากคุณไม่มีสวัสดิการ Medicare โปรดเข้าไปที่ทางเลือกในการตรวจของหน่วยบริการเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม
  • คุณอาจจะเสียค่าธรรมเนียมหรือฟรีโดยแพทย์เรียกเก็บเงินจากรัฐบาล หากคุณพบแพทย์ GP
  • การวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ สำคัญอย่างมากและสามารถหยุดจากปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้
  • เชื้อเอชไอวีจะติดได้ง่ายที่สุดในช่วง ‘ระยะฟักตัว’ (ช่วงเวลาตั้งแต่ที่คุณติดเชื้อไวรัสไปจนถึงช่วงที่เชื้อมีปริมาณมากจนตรวจเจอ)

การรักษา

ไม่มีวิธีรักษาเชื้อเอชไอวีให้หายขาดได้ แต่การรักษาสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ไวรัสลุกลามและแพร่เชื้อได้ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี

ข้อมูลที่คุณต้องทราบเกี่ยวกับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีมีดังนี้

วิธีรักษา

  • ยาต้านไวรัส (ART)
    • การรักษาเอชไอวีจะได้ผล เมื่อรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งจะต้องรักษาไปตลอดชีวิต
    • โดยปกติ ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีจะได้รับยาต้านไวรัสหลายชนิดพร้อมกัน
    • ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่ในออสเตรเลียจะรับประทานยาเพียงวันละเม็ด โดยมีตัวยา 2-3 ชนิดรวมกัน
    • การรักษาเอชไอวีแบบฉีดที่ออกฤทธิ์ได้นานเป็นยารักษาเอชไอวี ที่ฉีดทุกสองสามสัปดาห์ แทนที่จะเป็นการรับประทานยาทุกวัน เช่นเดียวกับยาประเภทอื่น ๆ ยาตัวใหม่ก็มาพร้อมกับข้อดีและข้อเสีย คุณและแพทย์ควรตัดสินใจเลือกใช้ยาที่เหมาะกับคุณมากที่สุด อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาเอชไอวีแบบฉีดได้ที่นี่

ค่าใช้จ่ายและข้อมูลอื่น ๆ

  • หากคุณมีบัตร Medicare ก็สามารถซื้อยาผ่านโครงการสิทธิประโยชน์ทางยาและเวชภัณฑ์ (PBS) ได้ในราคาที่ถูกกว่า
  • บางรัฐยังออกค่าใช้จ่ายที่เหลือให้ ทำให้ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีเข้ารับการรักษาได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • เมื่อปี 2022 รัฐบาลได้ให้คำมั่นว่าจะทำให้ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีซึ่งไม่มีสิทธิ์ในสวัสดิการ Medicare สามารถได้รับยาฟรีจากร้านขายยาในโรงพยาบาลที่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาล ติดต่อ NAPWHA หากคุณต้องการความช่วยเหลือเกี่ยวกับการรักษาโดยไม่ต้องใช้ Medicare
  • แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อเอชไอวีคือบุคคลที่ดีที่สุดในการปรึกษาเรื่องการรักษา หากแพทย์คุณไม่มีประสบการณ์รักษาเอชไอวี ให้นัดพบแพทย์ที่คลินิกสุขภาพทางเพศ
  • การรักษาช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อเอชไอวีจากมารดาสู่ทารกในระหว่างตั้งครรภ์ได้เป็นอย่างมาก
  • ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่จะตรวจไม่เจอเชื้อภายใน 1-6 เดือนหลังเข้ารับการรักษาและรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง

หากคุณได้รับการวินิจฉัยว่ามีเชื้อเอชไอวี มีความช่วยเหลือและข้อมูลของหน่วยงานที่ให้บริการในแต่ละรัฐและดินแดนในออสเตรเลีย นอกจากนี้ คุณยังสามารถติดต่อองค์กรเพื่อคนทำงานบริการในพื้นที่เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม

เอชไอวีอาจจะกระทบต่องานของฉันได้อย่างไร

ข้อควรพิจารณาในทางปฏิบัติ

  • ไม่มีลักษณะผิดสังเกตของเชื้อเอชไอวีที่คุณสามารถมองหาเมื่อทำการตรวจลูกค้า 
  • วิธีเดียวที่จะทราบว่าคุณมีเชื้อเอชไอวีหรือไม่คือการเข้ารับการตรวจ
  • คนทำงานบริการที่ติดเชื้อเอชไอวีสามารถใช้ชีวิตที่ดี มีสุขภาพที่ดี แต่อาจจะได้รับผลกระทบจากการถูกตีตราและกฎหมายที่กำหนดให้การทำงานบริการทั้งที่ยังมีเชื้อเอชไอวีอยู่นั้นมีความผิด ความช่วยเหลือสนับสนุนจากเพื่อนคนทำงานบริการจึงเป็นประโยชน์อย่างมาก มีองค์กรเพื่อคนทำงานบริการและ องค์กรภาคประชาสังคม PLHIV (ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี)อยู่ในทุกรัฐและดินแดน 
  • ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่จะมีปริมาณเชื้อไวรัสในเลือดอยู่ในระดับที่ตรวจไม่เจอเชื้อภายใน 1-6 เดือนหลังเข้ารับการรักษาและรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง
  • หากคุณได้รับการวินิจฉัยว่ามีเชื้อเอชไอวี คุณไม่จำเป็นต้องรอจนกว่าจะตรวจไม่เจอเชื้อ จึงจะมีเพศสัมพันธ์ได้ การใช้มาตรการป้องกันที่อย่างเหมาะสม เช่น การใช้ถุงยางอนามัยและแผ่นยางอนามัยพร้อมสารหล่อลื่น การให้คู่นอนรับประทานยา PrEP การระมัดระวังในการสัมผัสเลือดและของเหลว และการเข้ารับการตรวจสุขภาพทางเพศอย่างสม่ำเสมอ สามารถลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อเอชไอวีให้ผู้อื่นได้อย่างมีนัยสำคัญ
  • ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีอาจหมดประจำเดือนเร็วกว่าผู้ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวีเล็กน้อย ซึ่งอาจกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์ คุณสามารถปรึกษาแพทย์หรือคนทำงานบริการคนอื่นเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ในวัยหมดประจำเดือนได้
  • ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีมักประสบปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศมากกว่าคนทั่วไป
  • ยารักษาเอชไอวีบางประเภทอาจจะเพิ่มหรือลดระดับยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงได้ ปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาอื่น ๆ ร่วมด้วย
  • มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาคุมกำเนิดบางชนิดกับยารักษาเอชไอวี อย่าลืมปรึกษาแพทย์ หากคุณจะรักษาเอชไอวีขณะที่ใช้ยาคุมกำเนิด 
  • บางคนอาจรู้สึกเครียด/วิตกกังวลเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์หรืออวัยวะเพศไม่ทำหน้าที่ตามปกติขณะปฏิบัติกิจหลังจากตรวจพบเชื้อเอชไอวี การขอความช่วยเหลือจากแพทย์ บริการให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีในท้องถิ่นและ/หรือองค์กรเพื่อคนทำงานบริการอาจจะช่วยได้ 

ข้อควรพิจารณาด้านกฎหมายและการแจ้งผลตรวจ

  • บางรัฐและดินแดนมีกฎหมายที่กำหนดให้การทำงานบริการขณะที่ป่วยเป็น STI และ/หรือ BBV รวมถึงเอชไอวี มีความผิด อาจมีกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกัน BBV และ STI ที่ใช้บังคับกับทุกคนด้วย อ่านข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับกฎหมายในเขตที่อยู่ของคุณได้ที่ กฎหมายและ BBV STI และติดต่อองค์กรเพื่อคนทำงานบริการในพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์กฎหมายเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ (HALC) ยังสามารถให้ความช่วยเหลือและข้อมูลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี 
  • เอชไอวีเป็นโรคที่จำเป็นต้องมีการแจ้งผลทั่วประเทศ ซึ่งก็หมายความว่าผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีเชื้อเอชไอวีจะถูกรายงานไปยังหน่วยงานสาธารณสุขระดับประเทศโดยไม่เปิดเผยความลับของผู้ป่วย คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อกำหนดในเขตที่อยู่ของคุณได้ในกฎหมายและ BBV STI
  • การติดตามผู้สัมผัสโรคที่เป็นอดีตคู่นอน (หรือที่เรียกว่า ‘การแจ้งผลแก่ผู้สัมผัสโรค’) เป็นการแจ้งผลแก่ผู้สัมผัสโรค BBV และ STI บางประเภท ซึ่งการแจ้งผลแก่ผู้สัมผัสโรคนี้ควรดำเนินการ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงในการแพร่เชื้อและเคารพต่อสิทธิส่วนบุคคลของคนทำงานบริการ องค์กรเพื่อคนทำงานบริการในพื้นที่ของคุณสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับช่องทางการแจ้งผลแก่ผู้สัมผัสโรคเพื่อรับรองว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ของคุณ

Rate this resource:

Was this article useful?

As you found this post useful...

Follow us on social media!

We are sorry that this post was not useful for you!

What can we do to make this a stronger resource for sex workers?

Tell us how we can improve this post.